7 Steps to paint watercolor ‘Peach Blossom’


 

Share skill by Fuanglada.J

Artist & Pattern designer.

 

 

 

  

สวัสดีทุกท่านนะคะ หลายๆท่านคงติดตามผลงานของ Janfive มากันบ้างแล้ว ทั้งฝั่งสินค้า Lifestyle และ Workshop หลังจากต้นปีที่ผ่านได้เปิด Workshop มาอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้เกิดอาการสะดุด ด้วยว่าเวลาที่วางไว้ว่าจะสอนและแบ่งปันทักษะนั้น ถูกยกเลิกไปด้วยแผนการเดินทางนับแต่เดือนกรกฏาคมไปจนถึงปลายปี และยังตามมาด้วยงานแสดงที่มีตารางแน่นเอี๊ยดทุกเดือนไปจนถึงปลายปีเช่นกัน เลยได้ข้อสรุปว่า Workshop นั้น อาจจะต้องเลื่อนออกไป ไว้สบกับโอกาสที่แน่นอนเมื่อไหร่ จะกลับมาเปิดสอนและแบ่งปันทักษะกันอีกครั้ง

            ส่วนวันนี้ โอกาสดีๆ (อารมณ์ดี) ก็นึกสนุกอยากจะลงสีภาพ Peach Flower แบบ Oriental ซะหน่อย (ทั้งๆที่งานกองอยู่เต็มโต๊ะและเต็มพื้น)  กะว่าเอาให้พอหอมปากหอมคอ ใช้เวลาไม่นานก็ได้ลายดอกไม้แบบ Oriental จำนวน 2 ชิ้น เอาไว้พิมพ์ลงบนผ้าหรือกระดาษให้ช่ำหัวใจชื่นใจในฝีมือ ส่วนลวดลายดอกไม้นั้นจัดอยู่ในหมวด “Florals Pattern” รวมถึงใบไม้ด้วย (นักเรียนที่เคยเรียนด้วยกันคงจะยังจำได้นะ เอ๊ะ...หรือลืมแล้ว) ลาย Floral ก็แยกออกไปได้หลายแบบขึ้นอยู่กับ Inspiration หรือ Style ของผู้ออกแบบรูปแบบของลวดลายเป็นได้ตั้งแต่ Traditional ไปจนถึง Modern ในส่วนขั้นตอนของการลงสีน้ำนั้นไม่ยากและไม่ซับซ้อน เพียงแค่มีหลักของการใช้สี และจังหวะที่จะลงน้ำหรือสีเข้ามาช่วยให้ลายที่เราจะวาดลงไปนั้นดูมีมิติและสดใส สำหรับบทความนี้ ก็ขอแชร์เทคนิคเล็กๆ ไว้ฝึกซ้อม หรือวาดเล่นเป็นงานอดิเรก “แล้วถ้าไม่เคยวาด จะทำยังไง???” ถ้าเราไม่ลงมือทำครั้งแรก เราก็จะต้องพูดคำว่า “ไม่เคยทำ” ตลอดไป เพราะฉะนั้น ลองมาฝึกด้วยกันนะคะ รอบนี้ทำได้ไม่ดี รอบต่อไปก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ

            เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม สำหรับการลงสีขั้นพื้นฐาน

  1. กระดาษเนื้อหยาบสำหรับลงสีน้ำ (รอบนี้ใช้ Canson เนื้อหยาบ
  2. สีน้ำ Winsor & Newton เฉดสี 6 สี คือ Cobalt Turquoise, Permanent Rose, Crimson Hue, Lemon Yellow Hue, Russian Blue และ Bright Red
  3. พู่กันวันนี้เลือกใช้ แบรนด์ Rubens แบบกลม เบอร์ 3, 4 และ 9

ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ เตรียมกระดาษทิชชู่สำหรับเช็ดพู่กัน แก้วน้ำล้างพู่กัน ดินสอ ยางลบ เทปกาว และจากสี แนะนำเป็นแบบพับนะคะ จะได้เก็บสีไว้ใช้ครั้งต่อไปได้

 

Step 1 หลังจากร่างภาพเสร็จ ขั้นตอนการลงสีน้ำนั้น ให้ลงด้วยน้ำผสมสีอ่อนๆ อ่อนมากๆ ในพื้นที่ที่เราต้องการไล่น้ำหนักต่อไป โดยส่วนไหนที่เราต้องการให้เป็นพื้นที่สีขาว ให้เว้นช่องว่างไว้ เพราะกฏของการใช้สีน้ำ จะเว้นพื้นที่ที่ต้องการให้ขาวหรือสว่างไว้นั้นเอง ค่อยๆลงทีละกลีบกันเลยค่ะ (เคล็ดเล็กๆ คือ หากระดาษสะอาดๆ มารองมือระหว่างลงสี เพื่อไม่ใช้ผิวเราไปโดนกระดาษที่ใช้วาดภาพ)

 

Step 2 ให้ลงน้ำแค่พอหมาด อย่าให้ชุ่มไปนะคะ เสร็จแล้วก็ลงสีเข้มขึ้น ค่อยๆไล่ไปจากโคน ส่วนนี้ใช้สีแดงแบบ Crimson Hue ผสมน้ำแล้วค่อยลงไปบนกลีบ เรียกว่า Wet on Wet น้ำที่ลงตอนแรก กับสีที่ลงใหม่นั้น จะค่อยๆ Blend เข้าหากันวิธีนี้จะไม่ความ ละมุน ความนุ่มนวลจากการ Blend กันของสี

 

Step 3 ระหว่างที่สีมันหมาดๆ ก็ใช้สี Bright Red เข้าเพิ่มความสดใสอีกสีหนึ่ง ใช้เทคนิค Wet on Wet เช่นกัน ค่อยๆเอาพู่กันแตะๆ ทีละน้อย หากว่าน้ำที่ลงชุ่มไป ให้ซับพู่กันด้วยทิชชู่แล้วค่อยๆแตะพื้นที่ที่ชุ่มน้ำ เพื่อดึงเอาน้ำออก แล้วค่อยๆ เกลี่ยสีใหม่อีกครั้ง

 

Step 4 คราวนี้ ก็จะรอให้สีของดอกแรกนั้น แห้งอีกหน่อย ระหว่างนั้นก็ลงสีดอกที่สอง ใช้วิธีการเดียวกัน และส่วนที่เป็นก้าน ระวังอย่าให้สีซึมไปโดยส่วนที่เป็นดอกในขณะที่มันยังไม่แห้งนะคะ เพราะสีจะ Blend เข้าหากัน ส่วนที่เป็นก้านใช้สี Cobalt Turquoise ผสมน้ำแล้วลงบนพื้นที่แห้ง เรียกว่า Wet on Dry หลังจากนั้นก็ผสมสี Russian Blue เพื่อให้มีน้ำหนักและเฉดสีที่แต่งกัน

 

Step 5 ค่อยๆ เก็บรายละเอียดของดอกที่สอง จังหวะของการลงน้ำที่ไม่เยอะเกิดไป กับสีน้ำผสมน้ำอย่างพอดี จะทำให้ลวดลายนั้น ได้สีที่สดใส และ Blend เข้าหากันในจังหวะที่ลงตัว การลงสีน้ำต้องใจเย็นนะคะ ขั้นตอนนี้เต็มสีเหลืองอ่อนๆตรงปลายกีบด้วยนะ

 

Step 6 ต่อไปก็เริ่มเก็บรายละเอียดส่วนที่เป็นเงา โดยการใช้สีที่เข้มกว่า ลงในพื้นที่ที่เป็นเงา ค่อยๆ ไล่เก็บทีละส่วน สังเกตได้ว่า ความเข้มของสีทั้ง 2 ดอกนั้น ไม่เท่ากัน เพื่อตอนที่เป็นลายผ้าหรือลายพิมพ์นั้น จะได้ดูมีมิติขึ้นมา แต่ก็ไม่ควรมีมากเกินไป เพราะเราต้องการคุมโทนให้มันอยู่ในอารมณ์เดียวกัน

 

Step 7 ขั้นตอนสุดท้าย ก็คือการไล่เก็บรายเอียดเล็กๆ เช่นเกสร เส้นตัดระหว่างขอบ ตรวจดูความเรียบร้อยของภาพวาดอีกครั้ง ที่สำคัญ ขนาดของภาพที่เราวาด มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับขนาดของลายผ้าที่เราจะพิมพ์...ยังไง??? ไม่บอก ไว้มาบอกรอบหน้านะคะ

 

เคล็ดเล็กๆ ในการทำงาน

เพื่อให้อุปกรณ์ใช้ได้นาน ควรเก็บรักษาดีๆ โดยเฉพาะพู่กัน ไม่ควรจุ่มน้ำทิ้งไว้ ซับให้แห้งหมาดๆ ก่อนเก็บเข้าขวดใส่พู่กัน ไม่ควรบี้ปลายพู่กันนะคะ

 

ส่วนลายในวันนี้ เราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง???

วันนี้ก็จะได้ลายที่เราออกแบบเองไว้ 1 ลาย เอาไว้ทำ Wallpaper หรือ เสื้อคลุมก็ย่อมได้

 

สำหรับครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณมากๆ ที่ติดตามผลงานและติดตามอ่านบทความนี้ ครั้งแรกที่เขียนเลยค่ะ ไว้มีโอกาสจะมาแบ่งปันทักษะกันอีกนะคะ

 

 

 

 

 


Leave a comment